ประวัติความเป็นมา

     การปฏิรูประบบราชการขนานใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2545 เริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนกระบวนการบริหารงานภาครัฐและการปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการ ทำให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา โดยเฉพาะการนำหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีหรือ ธรรมาภิบาล (GOOD GOVERNANCE) และการบริหารงานภาครัฐแนวใหม่ (NEW PUBLIC MANAGEMENT) เข้ามาประยุกต์ใช้ในระบบราชการของไทย ดังเจตนารมณ์ปรากฏในมาตรา 3/1 ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 กล่าวคือ การบริหารราชการแผ่นดินต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ ความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในเชิงภารกิจแห่งรัฐ การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน การลดภารกิจและยุบเลิกหน่วยงานที่ไม่จำเป็น การกระจายภารกิจและทรัพยากรให้แก่ท้องถิ่น การกระจายอำนาจการตัดสินใจ การอำนวยความสะดวกและการตอบสนองความต้องการของประชาชนทั้งนี้โดยมีผู้รับผิดชอบต่อผลของงาน การมีส่วนร่วมของประชาชน การเปิดเผยข้อมูล การติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมของแต่ละภารกิจ และในมาตรา 71/1 กำหนดให้มีคณะกรรมการพัฒนาระบบบริหาร (ก.พ.ร.) ขึ้นโดยกำหนดอำนาจหน้าที่ของ ก.พ.ร. ไว้ในมาตรา 79/10 ให้ ก.พ.ร. มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแนะให้คำปรึกษาแก่ ครม. เกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการและหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องประสานกับส่วนราชการได้เป็นอย่างดี สำนักงาน ก.พ.ร. จึงกำหนดให้ส่วนราชการมีการจัดตั้งกลุ่มพัฒนาระบบบริหารขึ้น ซึ่งกรมการแพทย์ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างกรมการแพทย์เพื่อตอบสนองกฎหมายดังกล่าว และจัดตั้งกลุ่มพัฒนาระบบบริหารขึ้นในปี พ.ศ. 2545 เพื่อดำเนินการพัฒนาระบบราชการของกรมการแพทย์ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการที่สำนักงาน ก.พ.ร. กำหนดไว้

     ในการนี้ยังได้จัดให้มีคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ขึ้นอย่างเป็นทางการเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในการให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อคณะรัฐมนตรีและเป็น “เจ้าภาพ”
ในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและจริงจัง รวมทั้งกำหนดให้มีสำนักงาน ก.พ.ร. ทำหน้าที่รับผิดชอบเป็นฝ่ายเลขานุการ รวมทั้งให้มีการจัดตั้ง
กลุ่มพัฒนาระบบบริหารขึ้นในส่วนราชการทุกแห่ง เพื่อที่จะเป็นเครือข่ายในการพัฒนาระบบราชการต่อไป

     กรมการแพทย์ ได้ดำเนินการพัฒนาระบบราชการกรมการแพทย์ตามกรอบที่สำนักงาน ก.พ.ร.กำหนดอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยนำเทคนิคและเครื่องมือบริหารจัดการสมัยใหม่มาใช้ เช่น การลงนามคำรับรองการปฏิบัติราชการ การลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการ การประเมินผลการปฏิบัติราชการ การจัดทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลง (BLUEPRINT FOR CHANGE) และกำหนดนโยบายเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทยโดยได้ดำเนินการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการทั้งในระดับกลุ่มภารกิจ ระดับกรม และระดับสำนัก กอง สถาบัน ศูนย์ เป็นประจำทุกปี ในการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการประจำปี มีการกำหนดค่าเป้าประสงค์หรือค่าเป้าประสงค์และตัวชี้วัด ที่สามารถผลักดันให้กรมการแพทย์บรรลุวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งมีการติดตามผลการดำเนินการตามตัวชี้วัดเป็นรอบตามช่วงระยะเวลาที่กำหนด เช่น รอบตามไตรมาส หรือรอบ 6 เดือน เป็นต้น

     จากจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบันนี้ กรมการแพทย์ได้พัฒนาระบบการบริหารจัดการกรมการแพทย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยสร้างความพึงพอใจให้กับผู้รับบริการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดจนได้รับการรับรองคุณภาพระดับสากลทั้งในมิติของการพัฒนาองค์การ การให้บริการประชาชน และการบริหารบุคคล

     กรมการแพทย์จัดตั้งกลุ่มพัฒนาระบบบริหารขึ้นในเดือนตุลาคม 2545 เพื่อเป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการกรมการแพทย์ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี


ภารกิจตามกฎกระทรวง

1. เสนอแนะให้คำปรึกษาแก่อธิบดีกรมการแพทย์ เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการภายในกรม
2. ติดตาม ประเมินผล และจัดทำรายงานเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการในกรม
3. ประสานและดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการร่วมกับหน่วยงานกลางต่างๆ และหน่วยงานในสังกัดกรม
4. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย


Message us